ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กรุงเทพ สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2325 หากได้ไปสักการะ ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพ ก็จะช่วยเสริมดวงในด้านต่าง ๆ มีความเจริญรุ่งเรือง เสริมความเป็นสิริมงคล
การไหว้ศาลหลักเมือง เป็นศีลธรรมที่สำคัญของชาวไทย และเป็นการแสดงความเคารพและความเชื่อมั่นในศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
การไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ขั้นตอนการสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครมีด้วยกัน 5 จุด
จุดที่ 1 อาคารหอพระพุทธรูป
สักการะพระประธาน พระพุทธรัตนศรีนครบพิตร ที่ประดิษฐานภายในหอพระพุทธรูป โดยในจุดนี้ ให้ถวายดอกบัว 1 ดอก โดยไม่ต้องจุดธูปและเทียน และภายในหอพระพุทธรูปนี้ยังมีให้ใส่บาตรพระพุทธรูปประจำวันเกิดด้วย โดยเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต
จุดที่ 2 องค์พระหลักเมืองจำลอง
กราบสักการะองค์พระหลักเมืองจำลอง ให้กล่าวคำอธิษฐาน ถวายรูป เทียน และปิดทอง จากนั้นให้ผูกผ้าแพร 3 สี บนองค์พระหลักเมืองจำลอง โดยให้ผูกพร้อมกันทั้ง 3 ผืน
จุดที่ 3 สักการะองค์พระหลักเมืององค์จริง
ภายในจะมีเสาหลักเมือง 2 เสา โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 จะมียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์ ในจุดนี้ให้นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง 1 พวง
จุดที่ 4 ศาลเทพารักษ์ทั้ง 5
กราบไหว้องค์เทพารักษ์ทั้ง 5 โดยถวายพวงมาลัยทั้ง 5 พวง สำหรับเทพารักษ์ทั้ง 5 จะประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง โดยเทพารักษ์ทั้ง 5 มีหน้าที่ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น
จุดที่ 5 เติมน้ำมันตะเกียง
จุดสุดท้ายของการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคน ในจุดนี้ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด โดยให้เติมครึ่งขวดเพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไป